ประเพณีงานศพ ค่าใช้จ่ายในงานศพ ขั้นตอนการจัดงานศพ

ไว้อาลัยในหลวง
ประเพณีงานศพ เป็นประเพณีเกี่ยวกับความตาย แต่ละสังคมแต่ละเชื้อชาติจะปฏิบัติต่อร่างกายคนตายหรือซากศพแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของตน ส่วนสังคมไทยนั้นจะมีการเผาเป็นส่วนมาก การทำบุญเกี่ยวกับคนตายของไทยนั้นที่นิยมจัดกันก็มีพิธีอาบน้ำศพ ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านหรือที่วัด เป็นเวลา 3 คืน 5 คืน หรือตามแต่เจ้าภาพจะเห็นสมควร เสร็จแล้วจะเผาหรือเก็บศพ ฝังศพ บรรจุศพไว้ 50 วัน 100 วัน แล้วเผาในภายหลังก็ได้ แตกต่างกันตามรูปแบบตามท้องถิ่น ดู แผนที่แสดงตำแหน่งและค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพของ 7 วัดดังในกทม.

ขั้นตอนการจัดงานศพ และ ค่าใช้จ่ายในงานศพ 

 
ค่าใช้จ่ายในงานศพคือ ค่าใช้จ่ายสุดท้ายในชีวิต ในการจัดงานศพนี้จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายมากพอสมควร จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความต้องการและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ตายและญาติเป็นสำคัญ 

หลายคนละเลยที่จะนึกถึงเรื่องนี้เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง หลายคนไม่อยากจะนึกถึงเพราะความตายเป็นเรื่องที่น่ากลัวและเป็นเรื่องอัปมงคลที่จะต้องมานึกถึงวันตายของตัวเอง แต่ความจริงแล้ว การลองคิดคำนวณถึงงบประมาณที่จะต้องใช้ในการจัดงานศพ กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนควรจะทำเพื่อจัดเตรียมงบประมาณไว้จำนวนหนึ่งสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในพิธีศพของตนเอง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกหลานญาติมิตรที่อยู่เบื้องหลังไม่ต้องเดือดร้อน ปรากฏให้เห็นผ่านการทำประกันชีวิตและการรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์หรือกองทุนฌาปนกิจต่าง ๆ 

ในการจัดงานศพโดยทั่วไป มีค่าใช้จ่ายในเกือบจะทุกขั้นตอน เพื่อให้ทราบถึงงบประมาณโดยคร่าว ๆ  ดังนี้

1. หลังเสียชีวิต

1.1 การจัดการเอกสาร 
                หลังจากการเสียชีวิต ญาติจะต้องติดต่อกับที่ว่าการอำเภอเพื่อทำใบมรณะบัตร ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อย 

การอาบน้ำศพตามประเพณีไทย ถือกันว่าเป็นการชำระล้างร่างกายของผู้ตายให้สะอาดหมดจด จะทำกันเฉพาะในหมู่ลูกๆ หลานๆ หรือญาติที่สนิท 

การอาบน้ำเหมือนกับการอาบน้ำปกติ แล้วจึงแต่งตัวให้สวยงามในชุดที่ผู้ตายโปรดปราน ต่อจากนั้นแขกหรือญาติที่มาอาบน้ำศพก็จะใช้น้ำอบไทยมารดที่มือศพ เป็นการขอขมาลาโทษที่เคยได้ล่วงเกินซึ่งกันและกันมาก่อน เมื่ออาบน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เตรียมนำศพลงหีบหรือใส่โลง ซึ่งเป็นหน้าที่สัปเหร่อ

1.2 การจัดการศพและการติดต่อวัด 
ค่าโลงศพ/หีบศพ ในขั้นตอนนี้ค่าใช้จ่ายจะเริ่มจากการจัดหาโลงหรือหีบศพซึ่งมีหลายชนิดหลากราคาแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ประมาณ 2,000 บาท ไปจนถึงหลักแสน หากผู้ตายเป็นผู้ที่มีฐานะยากจน ก็สามารถขอรับบริจาคโลงศพได้ตามมูลนิธิหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิหรือหน่วยงานที่ช่วยเหลือก็จะพิจารณาช่วยเหลือผู้ตายที่มีความยากไร้จริง ๆ เท่านั้น 
ค่าฉีดยารักษาสภาพศพและการแต่งศพ มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 300-500 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพศพและสาเหตุการตาย
ค่าทำพิธีเชิญวิญญาณและการบรรจุศพลงโลง ในขั้นตอนนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของญาติ หากทำพิธีแบบเรียบง่ายก็จะมีค่าใช้จ่ายไม่มากนัก โดยค่าใช้จ่ายหลักคือปัจจัยถวายพระสงฆ์และพิธีกรในขั้นตอนของการทำพิธีเชิญวิญญาณ 
การติดต่อญาติและการเชิญแขกมาร่วมงานศพ ในขั้นตอนนี้จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับการทำบัตรเชิญมาร่วมงานศพ การส่ง SMS การลงประกาศทางหนังสือพิมพ์ และการทำป้ายบอกทางมาร่วมงานศพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็น จำนวนญาติสนิทมิตรสหายที่ต้องการแจ้งข่าว และความต้องการของญาติ

2. พิธีวันแรก

                ค่าใช้จ่ายหลัก ๆ สำหรับพิธีในวันแรก คือ ค่าใช้จ่ายเรื่องสถานที่ ได้แก่ ค่าวัด (ศาลาวัด) สำหรับตั้งบำเพ็ญกุศลศพและสถานที่รับแขก มีตั้งแต่ราคา 500-2000 บาท ขึ้นอยู่กับวัด เช่น หากเป็นวัดใหญ่ที่มีชื่อเสียง ได้รับความนิยม ก็จะมีราคาสูงขึ้น ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น โต๊ะ เตียง เก้าอี้ เครื่องเสียง ปัจจัย เครื่องไทยธรรม ดอกไม้ ธูปเทียน ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่วัดจะเป็นผู้จัดเตรียมให้ รวมไปถึงค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าถวายวัด โดยจะคิดราคาแยกต่างหากจากค่าสถานที่ (ศาสา) และค่าอุปกรณ์ ค่าอาหาร-เครื่องดื่มสำหรับเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานสวดอภิธรรม มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน (ต่อคืน) ขึ้นอยู่กับวัด จำนวนแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน และประเภทของอาหารที่แล้วแต่ว่าญาติต้องการแบบใด ค่าจ้างช่างถ่ายวีดีโอ ภาพนิ่ง ค่าจ้างพนักงานเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม พนักงานต้อนรับ ซึ่งหากญาติมีจำนวนเพียงพอและสามารถทำเองได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

3. พิธีสวดบำเพ็ญกุศล

                ค่าใช้จ่ายในพิธีสวดบำเพ็ญกุศลนี้ จะเหมือนกับพิธีในวันแรกเกือบทั้งหมด เนื่องจากเป็นพิธีที่ทำต่อเนื่องจากพิธีมนวันแรก ค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับจำนวนวันเวลาที่ญาติต้องการ เช่น 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน

4. พิธีทำบุญเลี้ยงเพลพระ (วันฌาปนกิจ)

                ในขั้นตอนนี้ มีค่าใช้จ่ายที่เหมือนกับพิธีสวดบำเพ็ญกุศลเกือบทั้งหมดอีกเช่นกัน แต่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้แก่ ค่าภัตตาหารสำหรับเลี้ยงพระสงฆ์ ค่าอาหารมื้อเที่ยงสำหรับเลี้ยงแขกผู้มาร่วมงานซึ่งจะแตกต่างจากอาหารสำหรับเลี้ยงแขกในเวลากลางคืน จึงอาจต้องใช้งบประมาณที่สูงขึ้น นอกจากนี้ก็จะมีค่าอุปกรณ์ที่ต้องจัดเตรียมเพิ่มเติม เช่น ผ้าไตรเต็ม

5. พิธีฌาปนกิจ

                เป็นพิธีที่ทำในวันเดียวกันและทำต่อเนื่องจากพิธีเลี้ยงเพลพระ ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่จำเป็นได้แก่ ค่าค่าพนักงานยกโลง ผ้าไตรเต็ม ผ้าบังสุกุล ดอกไม้จันทร์ ค่าของชำร่วยเพื่อใช้แจกเป็นที่ระลึกให้แขกผู้มาร่วมงาน ค่าเครื่องดื่มเพิ่มเติมสำหรับแจกแขกผู้มาร่วมงานช่วงระหว่างรอทำพิธีฌาปนกิจ

6. พิธีเก็บอัฐ

                ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นได้แก่ ค่าภัตตาหารแบบปิ่นโตสำหรับถวายพระสงฆ์ ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้พิธีแปรธาตุ เช่น เงินเหรียญบาท 32 เหรียญ และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเก็บอัฐิ เช่น โกศ ลุ้งอังคาร ผ้าขาว ผ้าห่อลุ้งอังคาร ดอกไม้ น้ำอบไทย เงินเหรียญบาทสำหรับโปรยทาน เป็นต้น

7. พิธีลอยอังคาร

                เป็นพิธีที่ทำในวันเดียวกันและทำต่อเนื่องจากพิธีเก็บอัฐิ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ได้แก่ ค่าเดินทางไปยังสถานที่ลอยอังคาร ค่าสถานที่ ค่าเช่าเรือ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความใกล้ไกลและชื่อเสียงของสถานที่ และจำนวนญาติที่เข้าร่วมพิธี ตลอดจนค่าคนทำพิธีลอยอังคารและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในพิธีลอยอังคาร เช่น ดอกกุหลาบ พวงมาลัย ดอกไม้โปรย เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ทางผู้รับจัดงานศพหรือทางเจ้าของสถานที่ผู้ให้บริการจะเป็นผู้จัดเตรียมไว้ให้
              
นับจากขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของการจัดการงานศพ โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ ประมาณ 30,000 – 50,000 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนวันในการตั้งบำเพ็ญกุศลศพ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะนิยม 5 วัน เพราะไม่มากหรือน้อยจนเกินไป นอกเหนือจากนี้ก็จะขึ้นอยู่กับความต้องการของญาติที่ต้องการเพิ่มเติมรายละเอียดในขั้นตอนต่าง ๆ ของการจัดงาน เช่น รูปแบบ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ โดยเฉพาะหีบศพ ที่จะมีผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันมากพอสมควร
ที่มา: http://suriyafuneral.com/article5 , หนังสือพิมพ์ข่าวสด