วิธีเลือกซื้อยารักษาโรค

วิธีเลือกซื้อยารักษาโรค

เมื่อคุณเกิดอาการเจ็บป่วยไม่สบาย จำเป็นต้องอาศัยยาเพื่อบรรเทาเองที่ร้านขายยา หลักในการเลือกซื้อยาและใช้ยารักษาโรคอย่างถูกวิธี ควรพิจารณาดังนี้

1. ซื้อยาจากร้านยาที่ได้รับอนุญาต และมีเภสัชกรประจำอยู่เท่านั้น

2. ถ้าสามารถพาผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยมาซื้อได้ยิ่งดี เพราะเภสัชกร อาจต้องสอบถามอาการ เจ็บป่วย

3. ยาวางจำหน่ายในตู้ที่สะอาด ไม่ร้อน หรืออับชื้นมากเกินไป

4. ภาชนะบรรจุยาสะอาด ฉลากยาอ่านชัดเจน ชื่อยาที่ปรากฎ มี 2 ชนิด คือ ชื่อสามัญ (generic name) และ ชื่อการค้า (trade name)

  • ชื่อสามัญ เป็นชื่อเรียกตามสูตรทางเคมี หรือเป็นส่วนประกอบของสารประเภทใด เช่น แอสไพริน (aspirin) เป็นชื่อเรียกสูตรเคมีของยาแก้ปวด แต่ชื่อสามัญจะเป็นชื่อที่ค่อนข้างยาว และจำได้ยาก ทำให้ไม่เป็นที่นิยมจำ
  • ชื่อการค้า เป็นชื่อที่ผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายยานั้น เป็นผู้ตั้งและขอจดทะเบียนไว้กับ กระทรวงสาธารณสุข การตั้งชื่อทางการค้า จะเป็นชื่อที่น่าสนใจ จำง่าย

 

5. ไม่ควรซื้อยาตามตัวอย่างที่มีอยู่ เพราะยามีมากมาย ยาที่มีรูปร่างและสีเดียวกัน แต่ใช้รักษา โรคแตกต่างกันมีมาก

6. สอบถามวิธีใช้ยาที่ถูกต้องให้แน่ชัดจากผู้ขาย หรือที่ปรากฏบนฉลากยา ขนาดยาที่ใช้

ในกรณียาน้ำ การบอกขนาดเป็นช้อนชา ช้อนโต๊ะ สามารถเปรียบเทียบหน่วย มาตรฐานดังนี้

  • 1 ช้อนชา = 5 มิลลิลิตร = 2 ช้อนกาแฟ = 1 ช้อนกินข้าว
  • 1 ช้อนโต๊ะ  =15 มิลลิลิตร = 6 ช้อนกาแฟ  = 3 ช้อนกินข้าว

7. ยากลุ่มปฏิชีวนะ ควรซื้อในจำนวนที่รักษาโรคให้หายโดยคำแนะนำของ เภสัชกรประจำร้าน

8. ควรสอบถามอาการข้างเคียงของยาที่อาจจะเกิดขึ้น ควรบอกยาที่มี ประวัติแพ้ให้เภสัชกรทราบทุกครั้ง เมื่อจะซื้อยา

9. เมื่อมีปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ควรรีบปรึกษาเภสัชกรประจำร้าน ที่ท่านซื้อยาทันที

10. เมื่อซื้อยาทุกครั้ง ควรอ่านสลากยาหรือเอกสารกำกับยา ซึ่งระบุ ชื่อยา วันผลิต และ วันหมดอายุยา ลักษณะยาไม่เสื่อมสภาพ และข้อห้ามใช้

  • “วันหมดอายุยา” ถ้าไม่ได้กำหนดไว้ โดยทั่วไปดูจากวันผลิต กรณียาเม็ดไม่เกิน 5 ปี และกรณียาน้ำ และยาทาเฉพาะที่ไม่เกิน 3 ปี วันหมดอายุ อาจจะระบุเป็นภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ

 

11. เนื่องจากมาตรฐานของผู้ผลิตแต่ละรายและคุณภาพของยา แต่ละตัวไม่เท่ากัน การเลือกซื้อยารักษาโรค  เลยต้องดูว่ายานี้ยี่ห้ออะไร ทำจากที่ใด ใครเป็นผู้ผลิต ระดับความบริสุทธิ์และสม่ำเสมอของยาแต่ละโดสก็มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับคุณภาพในการผลิตของบริษัทยาแต่ละราย ซึ่งส่งผลต่อความสามารถหรือประสิทธิภาพของยาในการออกฤทธิ์ทางการรักษาและ ความปลอดภัยของยานั้นๆ ผู้ป่วยเองควรต้องเช็คดูให้ดีว่าผลิตจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้หรือไม่

นอกจากนี้ผู้ป่วยควรทราบถึงสิทธิของตนเองว่า มีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้ผลิตยาได้ หากยาที่ซื้อมามีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานหรือบกพร่อง เช่นเดียวกันกับสินค้าสำหรับอุปโภค-บริโภคทั่วไป

การเลือกซื้อยารักษาโรค ที่พบเห็นบ่อย คือ การใช้ยาชุดซึ่งมีตัวยาหลายชนิดรวมกันอยู่ในซองเดียว หาซื้อง่ายตามร้านค้าทั่วไป และยาลูกกลอน ยาชนิดนี้มีสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาควบคุมต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น บางคนทานแล้วติดเนื่องจากทานแล้วหายปวดจากอาการต่างๆ แต่หากรับประทานมากเกินไป จะส่งผลให้กระดูกผุ ภูมิต้านทานโรคต่ำ อาจเป็นสาเหตของโรคร้ายแรงอื่นๆ