การเลือกซื้ออาหารประเภทเนื้อสัตว์
1. เนื้อหมู เลือกที่มีสีชมพูอ่อน มันสีขาว เนื้อแน่นเวลากดเนื้อจะไม่บุ๋ม
2. เนื้อวัว เลือกที่มีสีแดงสด มันสีเหลือง เนื้อสันในจะเป็นเนื้อที่เปื่อยที่สุด ถ้าเนื้อไม่สดจะมีสีเขียวดำๆ
3. เนื้อควาย มีลักษณะเหนียว เส้นหยาบ สีคล้ำกว่าเนื้อวัว มีมันสีขาว
4. ไก่ ต้องมีหนังบาง สีไม่ซีด ไม่มีกลิ่นเหม็น
5. ปลา ควรเลือกปลาสด ผิวเป็นมัน มีเมือกใสๆ บางๆ หุ้มทั่วตัว เกล็ดแนบกับหนัง ไส้ไม่ทะลักออกมาตาสดใสฝังในเบ้า เหงือกสีแดง ไม่มีกลิ่น เนื้อแน่น
6. กุ้ง ควรเลือกกุ้งสด หัวติดแน่น ตาใส ตัวมีสีเขียวปนน้ำเงินใส เนื้อแข็ง เปลือกสดใส ตัวโต
7. หอย ควรเลือกปากหุบแน่น เมื่อวางทิ้งไว้ปากจะอ้าออก และหุบไว้แน่นสนิท ก็แสดงว่ายังมีชีวิตอยู่ ถ้าเป็นหอยที่แกะเอาเปลือกออกแล้วต้องมีสีสดใส
8. ปู ถ้าเลือกซื้อปูทะเลจะมีสีเขียวเข้ม หนัก ตาใส กลางหน้าอกแข็งกดไม่ลง ไม่ยุบง่าย ถ้าต้องการปูไข่เลือกตัวเมีย ถ้าต้องการปูเนื้อเลือกตัวผู้ ปูตัวเมียฝาปิดหน้าอกจะใหญ่ ปูตัวผู้ฝาปิดหน้าอกเรียวเล็ก
9. ไข่ การใช้ไข่ประกอบอาหารและขนม มีทั้งไข่เป็ดและไข่ไก่ควรเลือกไข่สดถ้าไข่สดผิวนอกของเปลือกไข่จะมีลักษณะเป็นสีนวล เมื่อต่อยออกใส่ภาชนะจะเห็นไข่แดงนูนตรงกลาง
วิธีเลือกซื้อผักสด
ผักที่ใช้เป็นอาหาร ได้มาจากส่วนต่างๆ ของพืช ได้แก่ ใบผัก ราก ผล เมล็ด ดอก ควรเลือกผักดังนี้
1. เลือกซื้อตามฤดูกาล จะได้ผักที่มีคุณภาพดี ราคาถูก
2. เลือกซื้อจากสี ขนาด รูปร่าง ความอ่อนแก่ สด ไม่ช้ำ
3. เลือกซื้อตามชนิดของผัก
ผักที่เป็นหัว ควรเลือกซื้อที่มีน้ำหนัก เนื้อแน่น ไม่มีตำหนิ
ผักที่เป็นฝัก ควรเลือกฝักอ่อนๆ เช่น ถั่วฝักยาว ต้องสีเขียว แน่น ไม่พอง อ้วน
ผักที่เป็นใบ ควรเลือกสีเขียวสด ไม่เหี่ยว ไม่มีรอยช้ำ ไม่มีหนอน ต้นใหญ่ อวบ ใบแน่นติดกับโคน
ผักที่เป็นผล ควรเลือกสีเขียวสด ไม่เหี่ยว ไม่เสีย
4. ควรเลือกซื้อผักที่มีการรับประกันความปลอดภัยจากสารตกค้างต่างๆ เช่น ผักอนามัย ผักปลอดสารพิษ ผักอินทรีย์ ต้องดูสลากรับรองของหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เช่น กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานอาหาร กระทรวงสาธารณสุข
ควรเลือกซื้อผักที่มีรูพรุนบ้าง แสดงว่าแมลงยังกินได้ มีสารฆ่าแมลงอยู่น้อย
วิธีเลือกซื้อผลไม้สด
1. ต้องดูผิวสดใหม่
2. ขั้วหรือก้านยังเขียวและแข็ง
3. เปลือกไม่ช้ำ ดำ
4. ขนาดของผลสม่ำเสมอ