หุ้นกู้ (Bonds) หมายถึง ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะยาวประเภทหนึ่งที่ออกโดยผู้กู้ ซึ่งระบุว่าผู้กู้ ได้กู้ยืมเงินจำนวนหนึ่งจากผู้ซื้อ หรือผู้ถือหุ้นกู้ โดยผู้กู้สัญญาว่าจะจ่ายคืนเงินจำนวนดังกล่าวในอนาคต และจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายงวดตามวันที่กำหนดไว้ตลอดอายุหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้นกู้จะมีสภาพเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้น
หุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายจะต้องระบุข้อมูล ดังนี้
- ระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอน หรืออายุหุ้นกู้
- มูลค่าที่ตราไว้ หรือ มูลค่าเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งเป็นเงินต้นที่ผู้กู้ต้องชำระคืน ณ วันครบกำหนดไถ่ถอน โดยปกติจะเท่ากับ 1,000 บาท
- อัตราดอกเบี้ย ที่ระบุไว้บนใบหุ้นกู้ ซึ่งแสดงถึงร้อยละของมูลค่าที่ตราไว้ โดยมักจะจ่ายเป็นรายปีหรือรายครึ่งปี
ความแตกต่างระหว่างหุ้นกู้กับหุ้นสามัญ
หุ้นกู้ เป็นหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ที่ผู้ออกเป็นบริษัทเอกชน โดยบริษัทเหล่านี้มาขอกู้เงินกับประชาชนโดยตรงเพื่อนำไปขยายธุรกิจ ผู้ลงทุนในหุ้นกู้จึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ หุ้นกู้จะมีรูปแบบซับซ้อนหลากหลายกว่า ตราสารหนี้ภาครัฐ อีกทั้งผู้ออกซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ยังมีความหลากหลายในเรื่องของขนาดบริษัท ความมั่นคงของฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจ การจะลงทุนในหุ้นกู้จึงมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาหลายประการ เช่น credit หรือความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออก ลักษณะหรือเงื่อนไขเฉพาะของหุ้นกู้ อายุหุ้นกู้ อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
หุ้นสองประเภทนี้จะเห็นได้ชัดตอนที่เลิกบริษัท คือ ผู้ถือหุ้นกู้จะมีสิทธิ์มาเรียกคืนเงินของตนเองก่อน เพราะว่าเป็นเงินกู้ยืม แต่ผู้ถือหุ้นสามัญ จะเป็นรายสุดท้ายที่จะได้เงินคืน หรืออาจไม่ได้คืนเลยก็ได้ ถ้าบริษัทไม่มีจ่าย เพราะว่าเป็นเจ้าของหุ้นกู้ จัดเป็นหลักทรัพย์ที่ให้รายได้ประจำ เนื่องจากการจ่ายดอกเบี้ยและชำระคืนเงินต้นของหุ้นกู้ ได้ระบุไว้แน่นอน ณ เวลาที่ออกและกำหนดเป็นจำนวนเงินคงที่ ตลอดอายุหุ้นกู้ ดังนั้นผู้ซื้อหรือผู้ถือหุ้นกู้จะทราบถึงกระแสเงินสดในอนาคตที่จะได้รับนับจากวันที่ซื้อจนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน
การจำหน่ายหุ้นกู้มักกระทำผ่านธนาคารพาณิชย์ ที่มีสาขามากมาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ลงทุน แต่อาจทำให้ผู้ลงทุนสับสนว่าเป็นเงินฝากประเภทหนึ่ง ในกรณีนี้ธนาคารทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นกู้ และอำนวยความสะดวกในการขายหุ้นกู้ให้กับผู้ลงทุน
โปรดอย่าลืมว่า หุ้นกู้ไม่ใช่เงินฝาก ธนาคารอาจจะไม่ใช่ผู้ออกหุ้นกู้เสมอไป
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาของหุ้นกู้
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาของหุ้นกู้ คือ อัตราดอกเบี้ยในตลาด ซึ่งเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับราคาหุ้นกู้ เหตุผลในเรื่องนี้ คือ เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดขึ้น หุ้นกู้ที่กำลังจะออกขายในช่วงนั้นจะเสนออัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น เมื่อหันมามองหุ้นกู้ที่มีอยู่เดิมในตลาดซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำกว่า ก็จะพบว่าหุ้นกู้เดิมน่าสนใจน้อยกว่าหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ทางเดียวที่ผู้ลงทุนจะหันมาสนใจซื้อหุ้นกู้ที่มีอยู่เดิมในตลาดก็คือ หุ้นกู้เดิมจะต้องมีราคาที่ถูกลงด้วย ด้วยหลักการนี้เอง เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น ราคาหุ้นกู้จะลดลง และในทางตรงกันข้าม เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง ราคาหุ้นกู้จะเพิ่มขึ้น
หากสนใจจะซื้อขายหุ้นกู้ได้ที่ไหน
- หากเป็นการซื้อหุ้นกู้มือแรก หรือซื้อจากการเสนอขายครั้งแรกของผู้ออกหุ้นกู้ (issuer) จะเรียกว่าการซื้อขายในตลาดแรก (primary market) ผู้ลงทุนสามารถไปติดต่อซื้อได้ที่ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ออกหุ้นกู้ให้เป็นผู้จัดจำหน่าย ซึ่งมักจะได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้จัดจำหน่ายได้จากหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้นกู้ที่เราสนใจ
- ผู้ลงทุนยังสามารถซื้อขายหุ้นกู้ที่ผ่านการขายในตลาดแรกมาแล้วในตลาดรอง (secondary market) ได้อีก ตลาดรองนั้นมีทั้งที่ดำเนินการในลักษณะของตลาดตราสารหนี้ ที่ตั้งขึ้น อย่างเป็นทางการ ที่มีชื่อว่า Bond Electronic Exchange (BEX) ซึ่งผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นกู้ผ่าน broker ได้เหมือนการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือในลักษณะของ over the counter เรียกย่อๆ ว่า OTC ซึ่งเป็นการซื้อขายผ่านผู้ค้าตราสารหนี้ (Dealer) อาทิ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาผู้ลงทุนรายใหญ่ในตลาด OTC มักจะเป็นลูกค้าสถาบัน แต่อาจมี dealer บางแห่งที่ให้บริการซื้อขายตราสารหนี้กับลูกค้ารายย่อยด้วย
รู้จักกับ Credit Rating
credit rating ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน แต่ควรใช้ credit rating และ rating outlook เพื่อประกอบการลงทุน
Credit rating คือข้อมูลบอกระดับความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งแบ่งเป็นความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้ (issuer rating) และตัวหุ้นกู้แต่ละรุ่น (issue rating) ซึ่งจัดทำโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating agency: CRA*) ซึ่งปัจจุบัน CRA ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ในการจัดอันดับหุ้นกู้ในประเทศ มี 2 แห่ง คือ บริษัท ทริส เรตติ้ง จำกัด และ บริษัท ฟิทช์ เรตติ้งส์ (ประเทศไทย)
Credit Rating ของหุ้นกู้ระยะยาว มีความหมายโดยย่อดังนี้
- อันดับที่จัดว่าลงทุนได้คือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป
- S&P, Fitch Ratings และ TRIS Rating จะใช้สัญลักษณ์ + หรือ – เพื่อแบ่งย่อยคุณภาพเครดิตออกเป็นอีก 3 ระดับ เช่น BBB ก็ยังมี BBB+ และ BBB- (ยกเว้น AAA ที่เป็นคะแนนเต็ม และD ที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จะไม่มี + หรือ -) ส่วน Moody’s จะแสดงเป็นเลข 1,2 และ 3 ซึ่งเลข 1 หมายถึงคุณภาพเครดิตดีที่สุด
- สำหรับอันดับเครดิตของ Fitch Ratings จะใช้ (tha) ต่อท้ายเพื่อแสดงว่าเป็นอันดับเครดิตที่ใช้ในประเทศไทย
- ในการประเมิน CRA จะมีการระบุ เหตุผลประกอบการจัดอันดับ รวมถึงแนวโน้มอันดับเครดิตในอนาคต (rating outlook) ของบริษัทผู้ออกตราสารนั้นแถมท้ายมาด้วย เพื่อสะท้อนให้เห็นความเป็นไปได้ว่า ในระยะอีก 12 – 18 เดือนข้างหน้า อันดับเครดิตของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดได้บ้าง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในอนาคตของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่เปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทของบริษัทได้ แนะนำให้อ่านประกอบด้วย
- หากเป็นกรณีที่มีเหตุการณ์ที่อาจจะส่งผลในทางใดทางหนึ่งต่อบริษัท แต่อาจจะยังไม่ชัดเจน หรือยังสรุปผลไม่ได้ว่าจะส่งผลในทิศทางใด CRA จะออกรายงานเครดิตพินิจ “credit alert” เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ลงทุนระมัดระวังในการที่จะลงทุนในหุ้นกู้นั้นหรือให้ผู้ที่ลงทุนอยู่แล้วจับตาดูความเป็นไปอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากเวลาผ่านไป มีความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางดำเนินการของบริษัท หรือบริษัทสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น CRA จะออกรายงานอีกฉบับเพื่อแจ้งถอน credit alert และกลับมาระบุแนวโน้มอันดับเครดิต (rating outlook) เหมือนเดิม
ยิ่งCredit Rating ของหุ้นกู้ใกล้ A มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสเบี้ยวหนี้เราน้อยเท่านั้น แต่ถ้ายิ่งใกล้ไปทาง D มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสเบี้ยวหนี้เราสูงขึ้น
สำหรับผู้ลงทุนที่จะเลือกลงทุนในหุ้นกู้ rating BBB- อาจต้องให้ความใส่ใจในการติดตามเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ออกมากเป็นพิเศษ เพราะถ้าเกิดปัญหาใดๆ ที่กระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ และอันดับถูกปรับลด จะกลายเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (junk bond) ทันที