โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด สาเหตุ อาการ และการรักษา Congenital heart disease

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด พบได้ในเด็กแรกเกิด ในอัตรา 8 คนต่อเด็กแรกเกิดใหม่ 1,000 ราย เกิดจากความผิดปกติในการสร้างส่วนต่างๆ ของหัวใจตั้งแต่ตั้งครรภ์ช่วงแรก หัวใจมีส่วนประกอบเป็นกล้ามเนื้อ ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย แบ่งเป็นห้องต่างๆ 4ห้อง มีผนังกั้นแยกหัวใจด้านซ้ายและขวาออกจากกัน มีลิ้นหัวใจกั้นแยกหัวใจห้องบนและห้องล่าง

สาเหตุ
สาเหตุของภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด ยังไม่ทราบชัดเจน อาจเป็นผลจากสาเหตุทางพันธุกรรม ร่วมกับสิ่งแวดล้อม ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น ดาวน์ซินโดรม สัมพันธ์กับการมีผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect) และการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจเกิน (Patent Ductus Arteriosus)


อาการของโรคหัวใจในเด็ก

อาการแสดงของโรคหัวใจในเด็กมีได้หลายแบบ เช่น หายใจหอบเหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย เลี้ยงไม่โต หน้าอกโป่ง เขียว ใจสั่น เจ็บหน้าอก เป็นลม เป็นต้น ซึ่งอาจสรุปอาการสำคัญได้ดังต่อไปนี้

1. Heart Murmur กล่าวคือ ไม่มีอาการของโรคชัดเจน แต่ฟังได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติเป็น murmur เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กที่มาพบแพทย์ โดยอาจสูงถึง ร้อยละ 30-60 ของเด็กทั่วไป โดยเฉพาะในเด็กทารกหรือเด็กที่มีไข้จะฟังได้ชัดเจนขึ้น

2. ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure) มีอาการแสดงที่บอกถึงภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะในเด็กเล็ก อาการที่สำคัญ คือ มีเหงื่อออกมากโดยเฉพาะบริเวณศีรษะ โดยไม่ได้สัดส่วนกับเสื้อผ้าที่หนาหรืออากาศร้อน

– การดูดนมใช้เวลานานกว่าปกติ เด็กปกติดูดนมหมดหรืออิ่มใช้เวลาไม่เกิน 15-20 นาที แต่ในเด็กที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวจะใช้เวลานานกว่า หรืออาจใช้เวลาปกติแต่ปริมาณนมน้อยเกินไป (เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ปกติควรดูดนมต่อมื้อจำนวนเป็นออนซ์เท่ากับน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม กล่าวคือ เด็กหนัก 4 กิโลกรัม ควรดูดนมได้มื้อละ 4 ออนซ์ ทุก 4 ชั่วโมง)

– อาการตัวเล็กเลี้ยงไม่โต น้ำหนักไม่ค่อยขึ้น

– ในเด็กโตมักมีอาการเหมือนกับในผู้ใหญ่ เช่น เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย หรือต้องนอนศีรษะสูง

3. อาการเขียว (Cyanosis) โดยสังเกตจากบริเวณเยื่อบุบริเวณริมฝีปาก ลิ้น เยื่อบุตา หรือใต้เล็บ ในเด็กเล็กที่เริ่มมีอาการเขียว อาจเห็นว่าปลายนิ้วมือมีสีแดงเข็มกว่าส่วนอื่น

การตรวจวินิจฉัยจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดสามารถเริ่มต้นจากการตรวจเอกซเรย์ปอด เพื่อประเมินภาวะหัวใจโตและเงาของเส้นเลือดปอด รวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อประเมินขนาดของหัวใจแต่ละห้อง และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สำหรับการตรวจวินิจฉัยที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างของหัวใจได้ดีที่สุด ได้แก่ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถึ่สูง (Echocardiogram) ซึ่งสามารถบอกความผิดปกติ เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว หรือการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติได้

การรักษาภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด 

 
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ได้แก่
 

1. การรักษาด้วยยา (Medical Treatment) ได้แก่ กลุ่มยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อควบคุมอาการทางหัวใจ เช่น ในกรณีที่มีผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect) ซึ่งเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุด

2. การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Treatment) ในกรณีที่มีความผิดปกติ เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว หรือการผ่าตัดปิดผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่างที่รั่ว

ที่มา: ศูนย์เด็กและวัยรุ่น (Children & Teens Center)

Leave a Reply