วิธีวัดเรตติ้งละคร-รายการทีวี เรตติ้งน่าจะได้มาจากไหน

วิธีวัดเรตติ้งละคร

วิธีวัดเรตติ้งละคร

คำถามที่สุดฮิต เขามีวิธีวัดเรตติ้งละคร-รายการทีวีกันอย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่อยากทราบว่าละครโปรดของตนนั้นมีเรตติ้งเท่าใด หรือละครเรื่องไหนเรตติ้งดี น่าดูบ้าง

บางคนก็คิดว่า เรตติ้งน่าจะได้มาจาก ให้คนกรอกแบบสอบถาม สุ่มตามบ้าน ออกสำรวจ โพล โหวตตามกระทู้ ดูจากโฆษณา ยอด SMS วันนี้เรามาดูคำตอบกันว่าวิธีไหนถูกต้อง

วิธีวัดเรตติ้งละคร รายการโทรทัศน์
เรตติ้งรายการเมืองไทย จัดทำโดย บริษัทวิจัย ACNielsen (Thailand) โดยบริษัทจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายซึ่งมีราว 1,000 ครัวเรือนแล้วนำกล่องบันทึกข้อมูล (TV Meter)ไปติดตั้งกับโทรทัศน์ของบ้านกลุ่มเป้าหมายพร้อมกับกำหนดรหัสของสมาชิกภายในบ้านไว้ ซึ่งพวกเขา (ไม่ว่าพ่อ แม่ หรือลูก หรือญาติกาอื่นๆ) จะเปิดดูโทรทัศน์รายการใด เครื่องจะบันทึกรายละเอียดในการชมเอาไว้ ในส่วนของบริษัทเองก็จะบันทึกรายการที่ออกอากาศทุกช่องตลอด 24 ชั่วโมง

         เมื่อถึงกำหนด บริษัทผู้จัดทำเรตติ้งจะเก็บข้อมูลในกล่องไปประมวลผลเทียบเคียงกับเทปบันทึกของรายการโทรทัศน์ว่าในแต่ละนาทีมีผู้ชมรายการหรือละครหนึ่งๆ เท่าไร แล้วคำนวณออกมาเป็นตัวเลขเรตติ้ง ซึ่งก็คือเปอร์เซ็นต์ของผู้ชมรายการที่เป็นกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง

         ผลของเรตติ้งจะบอกเป็นตัวเลขตั้งแต่ 0 ขึ้นไป นับตั้งแต่มีการจัดทำเรตติ้งกันมา ตัวเลขเรตติ้งสูงสุด คือ 30 จากละครเรื่อง “คู่กรรม” ที่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์แสดงนำที่ออกอากาศทางช่อง 7

การวัดเรตติ้ง จะวัดที่โทรทัศน์ครับ เครื่องจะติดตั้งเข้ากับโทรทัศน์ ซึ่งก็ขึ้นกับรุ่นของเครื่องวัดว่า จะวัดจากสัญญาณภาพ, วัดจากคลื่น, วัดจากสัญญาณภาพและเสียง, วัดจาก AV In-Out หรือ วัดจากช่อง Antenna ครับ เพื่อสามารถดักจับว่ามีการเปิดโทรทัศน์ช่องใด เวลาใดครับ

เรตติ้งคืออะไร
มีแต่คนคุยว่า รายการนั้นได้เรตติ้งดี รายการนี้ได้เรตติ้งไม่ดี แต่ใครจะรู้ว่า จริงๆแล้ว เรตติ้งคืออะไร ?

แต่เรตติ้ง เกิดจากการวิจัยที่เป็นการตรวจวัดจำนวนคนดูโทรทัศน์ เป็นการตรวจวัด จำนวนคนดูโทรทัศน์ ในแต่ละช่วงเวลาจริงๆของบ้านตัวอย่าง หรือ ของตัวแทนในบ้านนั้น ซึ่งหมายถึง เราจะเก็บข้อมูลตั้งแต่การเริ่มเปิดโทรทัศน์ จนถึงปิดโทรทัศน์ ในแต่ละโทรทัศน์ในบ้านตัวอย่างที่เราสำรวจ สมมติว่า บ้านมีโทรทัศน์ 2 เครื่อง เราก็ต้องนำเอาเครื่องมือไปติดไว้ทั้ง 2 เครื่อง เพื่อตรวจจับว่ามีการเปิดปิดโทรทัศน์แต่ละเครื่องเมื่อใด เวลาใด มีคนดูโทรทัศน์ ในช่วงเวลาใด ตัวเครื่องจะจัดเก็บว่า ใครในบ้านดูโทรทัศน์ เริ่มต้นตั้งแต่วินาทีใด จนกว่าคนในบ้านหลังนั้นเลิกดูโทรทัศน์ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเก็บเป็นหน่วยของวินาที

แต่การจัดเก็บแค่จำนวนคนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง หรือ บ้านตัวอย่าง นั้นไม่เพียงพอต่อการนำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ เราจึงต้องเพิ่มน้ำหนักของตัวแทนเข้าไปในแต่ละคน แต่ละบ้าน ซึ่งคนในบ้านแต่ละคนก็จะมีน้ำหนักของการเป็นตัวแทนของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน เช่น พ่อ อาจจะแทน ผู้ชายที่มีอายุ 40-45 ปี จำนวน 10883 คน ส่วนแม่ อาจจะแทนผู้หญิง อายุ 35-39 ปี จำนวน 11232 คน ก็ได้ ซึ่งขึ้นแต่ละพื้นที่ คนในพื้นที่นั้นๆ ถ้าตัวแทนดูโทรทัศน์ ก็เท่ากับการที่ คนในพื้นที่นั้น ที่มีอายุ เพศ หรือ ลักษณะเฉพาะต่างๆ ได้ดูตามจำนวนน้ำหนักที่ตัวแทนดูโทรทัศน์นั้นอ้างอิงถึง

สถานที่ในการวางกล่องบันทึกข้อมูล TV Meter ได้จากการสุ่มพื้นที่ โดยแบ่งประเทศไทยออกเป็น 5 ส่วนคือ

1. กรุงเทพฯและปริมณฑล
2. ภาคกลางและภาคตะวันออก
3. ภาคเหนือ
4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
5. ภาคใต้

จากนั้นก็จะสุ่ม อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อทำการหาบ้านที่ติดตั้ง โดยจัดให้หมู่บ้านละ 1 บ้าน หรือ มากที่สุดก็ 2 บ้านขึ้นอยู่กับความห่างของแต่ละบ้าน การตรวจความห่างของแต่ละบ้านใช้ GPS เป็นเครื่องวัด มีกฎในการเลือกบ้านตัวอย่างอีกหลายข้อดังนั้น บ้านจึงกระจาย และ ไม่ได้โดนบ้านที่เกี่ยวข้องกับเรตติ้ง ถึงแม้นบ้านโกหก หากตรวจสอบเจอ ก็จะยกเลิกบ้านนั้นอย่างเร็วที่สุดครับ

คำถามที่พบบ่อยในเรื่องเรตติ้ง


รายการเดียวกัน เรตติ้งจะเป็นเช่นนั้นตลอดไปหรือไม่?

เรตติ้งเป็นเพียงตัวเลขที่เป็นผลของตัวแทนการดูโทรทัศน์ ซึ่ง แม้นแต่รายการเดียวกัน ต่างวันหรือต่างเวลากัน ก็ย่อมมีตัวเลขที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าคนดูในรายการนั้นมากน้อยเพียงใด ในวันใดวันหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากรายการเกมโชว์ ซึ่งจะมีตัวแปรเช่น บุคคลที่เข้ามาร่วมรายการว่ากำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนหรือไม่ มีชื่อเสียงมากแค่ไหน หรือ เรื่องที่นำมาเป็นเรื่องที่เป็นเรื่องที่คนทั่วไปสนใจมากน้อยเพียงใด เวลาที่ออกอากาศเหมาะสมมากแค่ไหน และ มีการโฆษณาของรายการมากน้อยเพียงใด ด้วย

คนติดรายการนี้ก็ต้องดูรายการนี้จริงหรือ?

เรายังเข้าใจผิดกันว่า รายการใดรายการหนึ่ง เมื่อคนติดรายการนั้นแล้วก็จะดูแต่รายการนั้น ซึ่งในความเป็นจริง คนเราก็มีบางช่วงเวลาที่ไม่สามารถดูรายการนั้น อาจจะติดงานเลี้ยง หรือ ติดธุระอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถดูรายการนั้นได้ บ้านตัวอย่างก็เช่นกัน ที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น ดังนั้น การที่เราจะได้คนดูคนเดิมหลายๆครั้งก็ไม่สามารถทำได้อย่างง่ายๆเช่นกัน ดังนั้น อาจจะมีคนส่วนใหญ่ที่สามารถดูรายการนั้นได้ แต่ก็ยังมีคนบางส่วนที่ไม่สามารถดูรายการที่ชื่นชอบได้ทุกๆครั้งเช่นกัน

เรตติ้งมีผลต่อการชี้นำให้คนมาดูมากน้อยเพียงใด ?

เรตติ้งมีผลกับคนดูน้อยมาก เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ใช้ในเฉพาะกลุ่มเท่านั้น คนที่รู้ว่ารายการนั้นเรตติ้งดี รายการนี้เรตติ้งไม่ดี ก็อาจจะมีผลต่อการเบี่ยงเบนทางพฤติกรรมบ้าง อย่างเช่น มีคนมาบอกว่า “แดจังกึม” มีเรตติ้งดีมากที่สหรัฐ และทั่วโลก ก็อาจจะมีผลที่ทำให้ผู้ได้ยินอยากที่จะเข้าไปดูบ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ความเป็นจริงของคนดูโทรทัศน์แล้ว จะดูรายการที่ชื่นชอบ หรือ รายการที่กำลังติดตามเป็นส่วนใหญ่ หรือ รายการที่มีการโฆษณาแล้วน่าสนใจ หรือบางครั้งก็จะดูรายการที่เปลี่ยนช่องผ่านและมีตอนที่กำลังสนใจถึงจะหยุดดูในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งจะเห็นว่า ไม่เกี่ยวอะไรกับเรตติ้งเลย

ชอบรายการนี้แต่ทำไมเรตติ้งไม่ดี?

จะพบบ่อยว่า คนบางคนชอบรายการหนึ่งรายการใดมากๆ แต่พบว่า เรตติ้งของรายการนั้นกลับมีเรตติ้งไม่ดี ทั้งนี้ ความชื่นชอบส่วนบุคคลอาจจะไม่เหมือนกับ ตัวแทนการตรวจวัดส่วนใหญ่ ซึ่งก็ทำให้เรตติ้งไม่ดีอย่างที่ต้องการ แต่หากเจาะเข้าไปในกลุ่มเดียวกับคนที่ชื่นชอบในลักษณะรายการนั้นว่ามีคุณสมบัติเช่นใด และ ใช้โปรแกรมดึงข้อมูลออกมา อาจจะได้เรตติ้งที่ดีกว่า เรตติ้งของคนดูทั่วประเทศก็เป็นไปได้

คนดูทั่วบ้านทั่วกรุงเทพฯแล้วทำไมเรตติ้งสู้อีกรายการไม่ได้?

ปัญหานี้มีเยอะกับกลุ่มคนที่เปรียบเทียบรายการ 2 รายการ หรือมากกว่า 2 รายการที่ออกอากาศในเวลาเดียวกัน ว่า รายการนั้นดีกว่ารายการนี้ แต่พบว่า รายการที่ตนเองชื่นชอบ กลับไม่ได้เรตติ้งดีเท่าที่ควร ซึ่งปัญหานี้มีอยู่เป็นประจำ ถ้าระบุถึงคนกรุงเทพฯชอบดูรายการนี้ บางทีคนต่างจังหวัดอาจจะไม่ชอบดูรายการนี้ก็ได้ เนื่องจาก การตรวจวัดเรตติ้งเป็นการตรวจวัดเรตติ้งทั่วประเทศ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น ถ้าเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นคนกรุงเทพฯ ก็อาจจะได้เรตติ้งดีกว่า รายการต่างๆก็ได้ ทั้งนี้ คนแต่ละสถานที่ก็มีผลต่อเรตติ้งด้วยเช่นกันว่า เรตติ้งจะมากน้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มเป้าหมายของโปรแกรมนั้น ขึ้นกับเฉพาะกลุ่มหรือไม่ อย่างรายการสารคดี คนกรุงเทพฯดูมากกว่าคนต่างจังหวัด เป็นต้น

คนทั่วไป จำเป็นต้องรู้เรื่องเรตติ้งด้วยหรือเปล่า?

ในความเป็นจริง คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องเรตติ้งเสียด้วยซ้ำ เพราะ เรตติ้งเป็นเพียงเครื่องตรวจวัดว่ามีจำนวนคนดูรายการนั้นๆ มากน้อยเพียงใด คนที่ใช้ก็จะเป็นคนในวงการโฆษณา, คนในวงการผลิตรายการโทรทัศน์ และ สถานีโทรทัศน์ แต่เนื่องจากความที่ต้องการโฆษณารายการ หรือ สถานี หรือ ช่วงเวลาของตนเองว่ามีคนดูมากขึ้น จึงใช้คำว่าเรตติ้งละครในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของโปรแกรมให้ดีขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มจำนวนคนเข้าดูรายการที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้มีจำนวนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นกุลศโลบายอย่างหนึ่งในการดึงคนเข้าไปดูรายการเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ก็ใช้ได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเมื่อผู้ชมเข้าไปดูแล้วไม่ชอบใจก็จะไม่ติดตาม แต่ก็ยังมีการใช้งานในลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง

มีการตรวจวัดเรตติ้งในเคเบิ้ลทีวี กับ ดาวเทียมหรือไม่?

มีการตรวจวัดเรตติ้งทั้งในเคเบิ้ลทีวี และ ดาวเทียม ซึ่งมีจำนวนบ้านตัวอย่างที่เป็นสัดส่วนเดียวกับจำนวนบ้านทั่วประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น บ้านที่ติดตั้งเคเบิ้ลทีวี มี 3% และ บ้านที่ติดตั้งจานดาวเทียมมี 2% ของบ้านทั่วประเทศไทย บ้านตัวอย่างที่ติดตั้งเคเบิ้ลทีวีก็จะแทนบ้านเพียง 3% และ บ้านตัวอย่างที่ติดตั้งจานดาวเทียมก็จะแทนบ้านเพียง 2% ทั่วประเทศไทยเช่นกัน

         การจัดทำเรตติ้งละครนับว่ามีอิทธิพลมากต่อสถานีโทรทัศน์ คณะผู้จัดทำละครหรือรายการ และบริษัทโฆษณา ละครเรื่องไหนมีเรตติ้งดี โฆษณาจะเยอะ เผลอๆ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์อาจจะให้ยืดละครออกไปอีกหลายตอน (เห็นกันบ่อยเลย) อย่างไรก็ตาม การจัดทำเรตติ้งละครเป็นที่ถกเถียงกันมากในเรื่องความน่าเชื่อถือ เพราะการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเพียง 1,000 ครัวเรือนจะใช้เป็นตัวแทนประชาชนที่ดูโทรทัศน์หลายสิบล้านคนได้อย่างไร